“พระธาตุ” (relic) ของผู้ตายที่ดูธรรมดาแต่มีค่านั้น  เป็นความทรงจำถึงพวกเขา ความทรงจำเป็นทั้งแหล่งความรู้เกี่ยวกับผู้ตาย และยังช่วยบรรเทาใจแก่เราด้วย

หลังจากพระคริสตเจ้าทรงเสด็จสู่สวรรค์ ความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์และคำสั่งสอนของพระองค์นั้น บรรดาศิษย์ของพระองค์ถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่า จากความทรงจำเหล่านี้จึงได้มีการเขียน
พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ขึ้น

นอกจากการระลึกผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นพระธาตุในทางจิตใจแล้ว ยังมีสิ่งที่จับต้องได้ของผู้ตายที่ยังคงอยู่ บรรดาคริสตชนยุคแรกๆ ให้ความนับถือ และความเคารพต่อพระธาตุของบรรดามรณสักขี หนังสือเรื่อง “การเป็นมรณสักขีของโปลีการ์ป” นั้นเขียนขึ้นหลังจากการเป็นมรณสักขีของท่านได้ไม่นาน คือ ในปี ค.ศ. 156 สะท้อนภาพรวมที่บรรดาคริสตชนของศตวรรษที่ 2 ได้แสดงความเคารพต่อพระธาตุของบรรดานักบุญ

“ดังนั้น เหนือสิ่งอื่นใด เราได้รวบรวมกระดูกของท่านไว้ ซึ่งมีค่าสำหรับเรายิ่งกว่าเพชร และดีเลิศกว่าทองคำบริสุทธิ์  เราวางท่านลงในสถานที่เหมาะสม เมื่อสบโอกาสเหมาะ   เราจัดชุมนุมกันด้วยความชื่นชมยินดี และด้วยการอนุญาตขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราจะจัดเฉลิมฉลองวันเกิดใหม่  ในการเป็นมรณสักขีของท่าน ซึ่งจะช่วยให้เราระลึกถึงทุกคนที่ได้วิ่งถึงเส้นชัยแล้วก่อนพวกเรา และยังเป็นการฝึกเตรียมตัวเพื่อจะสวมมงกุฎใดๆ ที่อาจได้รับ”

ในช่วงที่มีการเบียดเบียนศาสนาใหม่ๆ นั้น  ร่างกายของบรรดามรณสักขีถูกฝังไว้ในสุสานใต้ดิน ที่ซึ่งสัตบุรุษมาชุมนุมสวดภาวนาและถวายบูชามิสซา จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในพิธีมิสซาจารีตโรมัน คือ ให้ถวายบูชามิสซาเหนือพระธาตุของบรรดามรณสักขี ณ ที่เก็บพระธาตุของท่านไว้ คือ ที่พระแท่นหรือที่แผ่นหินพระธาตุบนพระแท่น เรามิเพียงแต่เก็บความทรงจำบุคคลที่เรารักและได้จากไป แสดงความรัก และความนับถือด้วยการไปเยี่ยมหลุมศพของพวกท่านเท่านั้น แต่ยังให้คุณค่ากับของที่ระลึก หรือสิ่งของที่พวกท่านใช้ หรือ อะไรก็ตามที่เคยเป็นของพวกท่าน

ในทำนองเดียวกัน นอกเหนือจากร่างกายที่ยังเหลืออยู่ของบรรดานักบุญ ของใช้ของพวกท่าน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกท่านในทางใดทางหนึ่ง ก็ถือเป็นพระธาตุด้วย

พระศาสนจักรส่งเสริมการใช้พระธาตุ อย่างเช่น รูปภาพที่ใช้เป็นสื่อให้เกียรติบรรดานักบุญ  อันที่จริงพระธาตุนั้น มีความเชื่อมโยงกับนักบุญโดยตรงมากกว่ารูปภาพ เนื่องจากเป็นร่างกายที่ยังเหลืออยู่ของผู้ตาย หรือสิ่งของที่พวกท่านใช้ สภาสังคายนาแห่ง นิเช ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 787) ได้กล่าวโทษบรรดาผู้ต่อต้านพิธีเคารพพระธาตุ มีเหตุผลมากมาย

ในการให้ความเคารพต่อพระธาตุ เหตุผลประการหนึ่งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ เป็นวิธีการให้เกียรติบรรดานักบุญ และในการให้เกียรตินักบุญนั้น เรายกย่องให้เกียรติองค์พระเจ้าเอง สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 บอกว่า

“ทุกกิจการที่แสดงความเคารพต่อท่านนักบุญนั้นสิ้นสุดลงที่องค์พระผู้เป็นเจ้า โดยธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้นั้น การแสดงความรักต่อชาวสวรรค์อย่างถูกต้องทุกครั้ง ต้องมุ่งไปสิ้นสุดที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “มงกุฎแห่งบรรดานักบุญ” และผ่านทางพระคริสตเจ้าก็ไปสิ้นสุดลงที่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นที่น่าพิศวงของบรรดานักบุญ ทั้งทรงได้รับพระเกียรติมงคลในบรรดานักบุญด้วย”

การแสดงความเคารพต่อพระธาตุนั้นยังเป็นรูปแบบหนึ่งของการภาวนาวอนขอความช่วยเหลือ และการปกป้องจากบรรดานักบุญ  ยิ่งกว่านั้นพระธาตุดลใจเราให้เจริญรอยตามวิถีชีวิตของนักบุญต่างๆ  ที่เราทำการระลึกถึง แน่นอนว่ามีการใช้พระธาตุแบบหลงงมงาย  นี่คือเหตุผลประการหนึ่งว่าทำไมจึงเกิดการปฏิรูปโปรเตสแตนท์ขึ้นในศตวรรษที่ 16 คัดค้านเรื่องการใช้พระธาตุ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร เตือนเรื่องการใช้พระธาตุในทางที่ผิดว่า “ห้ามขายพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อย่างเด็ดขาด”

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับพระธาตุคือ เรื่องความไม่แน่นอนในเรื่องความแท้จริงของพระธาตุบางอย่าง ในประเด็นดังกล่าวนี้ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ช่วยเราได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการกำหนดอายุของพระธาตุนั้นๆ

 

- กลับสู่.. "รู้รอบ" พระศาสนจักร -